ข้อมูลเที่ยว
ข้อมูลเที่ยว / ธรรมเนียมบนโต๊ะอาหารของชาวจีน
ธรรมเนียมบนโต๊ะอาหารของชาวจีน

วัฒนธรรมของจีนเป็นที่รู้จักในทางสากล รวมไปถึงประเทศไทยอีกด้วย อย่างที่ทราบกันดีว่า ประเทศจีนเป็นประเทศที่มีประชากรมากเป็นอันดับหนึ่งของโลก มีความหลากหลายในด้านสำเนียงภาษา และวัฒนธรรมประเพณี รวมทั้งเรื่องอาหารการกินซึ่งมีเอกลักษณ์เป็นที่ที่นิยมอย่างแพร่หลาย ทั้งรสชาติและความพิถีพิถันในการปรุงที่ผู้คนทั่วโลกต่างหลงใหลในความอร่อย แต่ในความเลิศรสนั้นก็ยังแฝงไปด้วย เรื่องที่เที่ยวล่าสุดจะเอามาเล่าสู่กันฟังในคราวนี้ ก็เป็นเรื่องความเชื่อและมารยาทบนโต๊ะอาหาร ซึ่งถือเป็นหนึ่งในธรรมเนียมที่มีมาอย่างยาวนานนับร้อยนับพันปีของประเทศจีน บางเรื่องดูสมเหตุสมผล บางเรื่องผูกโยงตำนานความเชื่อ บางเรื่องฟังแล้วยังไม่อยากเชื่อว่าจะเอามาข้องเกี่ยวกับเรื่องการกินได้ จะมีเรื่องอะไรบ้างนั้น ลองมาดูพร้อมๆกันเลยค่ะ

 

Photo credit Micah Sittig via Visualhunt.com   CC BY

 

เรื่องที่ 1 : การสั่งอาหาร 


        เมื่อเข้ามานั่งในร้านอาหาร คำถามแรกที่เห็นเมนูคือ “จะสั่งอะไรดี?” แนะนำว่าให้สั่งตามนี้ น้ำซุป ข้าว ผัดผัก และตามด้วยอาหารจานหลัก ซึ่งควรสั่งอาหารจานปลาด้วย แล้วตบท้ายของหวานจะถือว่ากำลังดี เพราะตามธรรมเนียมของชาวจีน จะนิยมดื่มน้ำซุปหรือน้ำแกงก่อนที่จะเริ่มรับประทาน เพื่อเป็นการปรับกระเพาะให้พร้อมสำหรับการรับอาหาร จากนั้นจบด้วยของหวาน อีกอย่าง ควรสั่งอาหารให้ลงเลขคู่เข้าไว้ จะ 2, 4, 6, 8 อย่างก็ได้ เพราะชาวจีนเชื่อกันว่า ถ้าสั่งเป็นเลขคี่ จะถือว่าเป็นมื้ออาหารในพิธีศพ   

 

 

เรื่องที่ 2 : ล้างถ้วย ช้อน ตะเกียบ ด้วยน้ำชาร้อน


        ถ้าได้เห็นพนักงานเสิร์ฟน้ำชาถ้วยแรกหลังจากที่เรานั่งโต๊ะเรียบร้อยแล้ว ขอแนะนำสักนิดว่าอย่าเพิ่งรีบร้อนดื่มเพราะนั่นคือน้ำชาที่ใช้เพื่อลวกถ้วยชามและตะเกียบ ซึ่งเป็นความเชื่อของชาวจีนที่ว่าการล้างอุปกรณ์เหล่านี้ให้สะอาด ถือเป็นสัญลักษณ์ของการเริ่มต้นมื้ออาหาร โดยจะเริ่มล้างจากถ้วยชาก่อน ต่อด้วยช้อน และตะเกียบ นอกจากนี้การล้างถ้วยชาด้วยน้ำร้อนก่อนรินชาใส่อีกครั้ง ทำให้ถ้วยชาเก็บกักอุณหภูมิของชาไม่ให้เสียไป ทั้งยังคงกลิ่นหอมและรสชาติที่ยอดเยี่ยมของชาไว้

 

เมื่อสั่งอาหารแล้ว ล้างอุปกรณ์การกินแล้ว พนักงานทำอาหารมาเสิร์ฟ ก็เริ่มทานได้! 

 

Photo credit kaichanvong via Visual Hunt

เรื่องที่ 3 : การการเคาะนิ้วบนโต๊ะ เมื่อมีการรินน้ำชาให้


        ถ้าหากได้ลองไปที่ร้านน้ำชา หรืออาหารของชาวจีนดูสักครั้ง จะได้เห็นลูกค้าที่กำลังง่วนอยู่กับการรับประทานอาหารหรือพูดคุยกับเพื่อนๆอย่างออกรส พอมีพนักงานรินชาให้ เขาจะงอนิ้วชี้และนิ้วกลางแล้วเคาะบนโต๊ะ 2 ครั้ง ซึ่งการกระทำนี้เป็นการทำเพื่อแสดงความขอบคุณเวลาที่มีคนเสิร์ฟน้ำชาให้ โดยนิ้วแรกแทนการคารวะด้วยศีรษะ อีกนิ้วหมายถึงสองแขนที่หมอบแทบพื้นนั่นเอง

เรื่องที่ 4 : ว่าด้วยการใช้ตะเกียบ

 

 

          เนื่องจากประเทศจีนเป็นเป็นชาติแรกในโลกในการประดิษฐ์และใช้ตะเกียบ ดังนั้นธรรมเนียมการใช้ตะเกียบบนโต๊ะอาหารของชาวจีนจึงมีอยู่มากมาย โดยที่นี้ขอยกธรรมเนียมและข้อห้ามบางข้อที่น่าสนใจไว้ลองสังเกต หากต้องร่วมโต๊ะอาหารแบบจีนแท้ๆ จะได้วางตัวให้ถูกต้อง ดังนี้

 

  • การตะเกียบหล่นบนโต๊ะอาหาร นอกจากเกิดเสียงขัดจังหวะการทานอาหารจนดูเหมือนเราไม่มีมารยาทแล้ว ยังเชื่อว่าทำให้บรรพบุรุษที่อยู่ในยมโลกตระหนกตกใจอีกด้วย

  • ส่งอาหารจากตะเกียบสู่ตะเกียบ ชาวจีนมักเชื่อกันว่าเป็นวิธีเดียวกับการคีบอัฐิของผู้ตายบรรจุลงโถในพิธีเผาศพแบบจีน ดังนั้นหากจะคีบอาหารให้คนอื่น ก็คีบแล้ววางบนจานให้จะดีกว่า

  • การเล็งอาหารก่อนคีบ หรือยื่นตะเกียบค้างไว้อย่างลังเลว่าจะคีบอะไรดี เพราะมันทำให้คนอื่นเสียจังหวะในการคีบอาหาร

  • การใช้ตะเกียบชี้ไปที่คนอื่น คนจีนเชื่อว่าเหมือนชี้หน้าด่าคนๆนั้น เพราะเขาเปรียบตะเกียบเทียบเท่ากับนิ้วมือ

  • การปักตะเกียบคู่ลงบนชามข้าวเป็นการสาปแช่งคนเป็น  เพราะมีรูปร่างคล้ายกระถางธูปซึ่งคล้ายกับวิธีตั้งโต๊ะเครื่องเซ่นผู้เสียชีวิต

  • การเคาะตะเกียบบนชามข้าว คนรอบข้างจะคิดว่าคุณเป็นศิษย์เอกพรรคกระยาจกเอาได้ เพราะว่าคนที่ทำแบบนั้นมีแต่ขอทานที่เคาะเพื่อขอเงินเท่านั้น

       

       ที่กล่าวมานี้ เป็นเพียงส่วนหนึ่งของมารยาทและความเชื่อต่างๆตามแบบฉบับชาวจีน ซึ่งแฝงอยู่ในวัฒนธรรมและเรื่องเล่าตำนานต่าง ๆ ที่มีมาอย่างยาวนาน โดยถ้ามองตามความเป็นจริงแล้ว ก็คือกุศโลบายอย่างหนึ่งที่เตือนให้รู้จักรับประทานอาหารอย่างระมัดระวังนั่นเอง นอกจากนี้ยังมีธรรมเนียมต่างๆ อีกมากมาย ซึ่งในปัจจุบันได้ลดความเข้มข้นลงบ้างแล้ว แต่ทั้งหมดนั้นล้วนเป็นสิ่งน่าจดจำเพราะล้วนเป็นวัฒนธรรมอันดีงามที่บรรพบุรุษได้สร้างมา
ขอบคุณข้อมูลจาก: ห้องสมุดกลางมหาวิทยาลัยรามคำแหง

Copyright © 2018 brightnesstour All Rights Reserved. Power BY applezeed.com